วันพฤหัสบดีที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2556

วัดพระธาตุดอยปูเข้า หรือวัดพระธาตุภูเข้า






วัดพระธาตุดอยปูเข้า หรือวัดพระธาตุภูเข้า

บ้านสบรวก หมู่ที่ ๑ ต.เวียง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย
(ตามเส้นทางเชียงแสน - สบรวก แยกซ้ายก่อนถึงสามเหลี่ยมทองคำเล็กน้อย ) สร้างขึ้นบนดอยเชียงเมี่ยง ริมปากน้ำรวก
เมื่อ พ.ศ. ๑๓๐๒ ในสมัยพระยาลาวเก้าแก้วมาเมือง กษัตริย์องค์ที่ ๒ แห่งเวียงหิรัญนครเงินยาง โบราณสถานประกอบด้วย
พระวิหาร และกลุ่มเจดีย์ที่พังทลาย ก่อด้วยอิฐมีร่องรอยการตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้น 
นอกจากนี้บนดอยเชียงเมี่ยงยังเป็น
จุดชมวิว สามารถมองเห็นสามเหลี่ยมทองคำได้ชัดเจน
วัดพระธาตุดอยปูเข้า หรือวัดพระธาตุภูเข้าตั้งอยู่บนดอยริมแม่น้ำโขง 
มีมณฑปอยู่บริเวณกึ่งกลางของวัด ล้อมรอบด้วยเจดีย์
ขนาดเล็ก ๕ องค์ ด้านหน้าเป็นวิหาร มีกำแพงแก้วล้อมรอบ ๒ ชั้น 
มีบันไดทางขึ้น ๓ ด้าน ยกเว้นด้านทางทิศตะวันตก ตาม
จากรูปแบบทางสถาปัตยกรรมสันนิษฐานว่า มีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๙

ประวัติวัดพระธาตุภูเข้า จากพงศาวดารเงินยาง เชียงแสน ตำนานสิงหนวติ รวบรวมโดย NOOKFUFU2
ตามตำนานเก่าแก่ประวัติวัดพระธาตุภูเข้า หรือปูเข้า พอสังเขป เมื่อาณาจักรโยนกไชยบุรีศรีช้างแสนล่มสลาย 
ในราวปี พ.ศ.๑๐๐๓ ชาวบ้านที่เหลืออยู่ภายรอบนอกแห่งนคร จึงพากันสร้างเมืองใหม่ 
ชื่อเวียงปรึกษา และได้ย้ายมายังริมแม่น้ำโขง ที่ตั้งเมือง เชียงแสนปัจจุบัน

ในราวปี พ.ศ. ๑๑๘๒ ลวะจังกราชเทพบุตรได้รับอภิเษกให้ปกครองเมือง เหรัญนครเงินยางไชยบุรีเชียงแสนครึ่งหนึ่ง ๖ ปีต่อมา
เหล่าท้าวพระยาเสนาอำมายต์ราชบัณฑิตทั้งหลาย ก็พากันสถาปนาพระองค์ให้เป็นใหญ่ครองทั้งเมือง 
และทรงพระนามใหม่ว่า ลวะจังกราชเอกกษัตริย์ เป็นกษัตริย์องค์แรก
จากนั้นพระองค์ทรงมีพระราชบุตร ๓ พระองค์ องค์แรกนามลาวกอ(ก่อ) องค์ที่ ๒ นามลาวเกือ(เกื้อ) องค์ที่ ๓ นามลาวเกลา(เก้า)
ในเวลาที่พระโอรสทั้ง ๓ ยังทรงประเยาว์อยู่ ขณะนั้นยังมีปูตัวใหญ่เท่ายุ้งข้าวมีลูก ๒ ตัว เวลากลางคืนมันพาลูกออกเที่ยวหากิน
กัดข้าวกล้าในนาเสียหาย ใช้ก้ามคีบช้างคีบโคกระบือตายวายวอด จนชาวบ้านได้รับความเสียหายเดือดร้อนเป็นอันมาก
พระมหากษัตริย์ผู้เป็นบิดาทรงรับสั่งให้พระโอรสทั้ง ๓ ไปกำจัดปู ๓ แม่ลูกกุมารน้อยทั้ง ๓ ก็พากันไปตามลำน้ำ
ตามรอยปูขึ้นไประหว่างเขา แห่งหนึ่ง เห็นปูอยู่ในถ้ำ ผู้พี่ทั้ง ๒ พระองค์จึงช่วยกันขุด ให้น้องสุดคนสุดท้องไปดักรอเอาสวิงรออยู่ใต้น้ำ
จนกระทั่งพลบค่ำก็ยังขุด ไม่สำเร็จเพราะรูหินนั้นแข็งมาก จึงเอาก้อนหินใหญ่ปิดทับไว้แล้วชวนกันกลับวัง 
โดยมิได้เรียกองค์น้องกลับมาด้วย ส่วนลาวเกลาองค์น้องคนเล็กที่รออยู่เป็นเวลานานเกิดความสงสัยจึงขึ้นไปดูก็ไม่พบพี่ทั้งสอง 
มีแต่ก้อนหินทับปิดรูอยู่ จึงกลับมาเล่าเหตุการณ์ให้พระราชบิดาทรงทราบ พระองค์ทรงตำหนิและสั่งสอนพระโอรสผู้พี่ทั้งสอง 

ต่อมาลาวเกลาได้เรียกรี้พลโยธาอาวุธครบมือขึ้นไปขุดรูปูลึกลงไปราว ๓๐๐ ศอก ก็ถึงที่อยู่ของปู ลูกปูตัวหนึ่งวิ่งออกมาเลยถูกฆ่า 
ตายและถอนเอาก้ามไปทำกลอง ส่วนแม่ปูและลูกปูอีกตัวกระดองแข็งมากฟันแทงไม่เข้า ได้ออกมาไล่ฆ่าไพล่พลจนล้มตาย
แล้วหนีเข้าถ้ำลึกลงไปถึงริมแม่น้ำโขง ส่วนที่เหลือก็พยายามติดตามไล่ฆ่า แต่ก็ไม่สามารถฆ่าปูสองแม่ลูกนี้ได้ จึงพากันกลับ

กาลต่อมาพระเจ้าลวะจังกราชทรงรับสั่งให้ลาวกอไปอยู่เมืองม้าเชียงของ(บางที่ว่าไปอยู่บ้านถ้ำ) 
องค์ที่สองนามลาวเกือให้ไปอยู่ เมืองยอง(บางที่ว่าไปอยู่เมืองผาพวง) ส่วนลาวเกลาองค์เล็กให้อยู่เวียงเหรัญนครเงินยางเชียงแสน 
เพื่อเป็นรัชทายาทสืบทอดราชบัลลังค์ต่อไป

ครั้นเมื่อลวะจังกราชเอกกษัตริย์ทรงสวรรคตลาวเกลาได้เถลิงถวัลย์ราชบัลลังค์ ในราวปี พ.ศ. ๑๓๐๒ และเมื่อทรงครองพระราช
สมบัติแล้วพระองค์เป็นผู้มีจิตศรัทธา เลื่อมใส ในบวรพุทธศาสนา จึงได้มาสร้างพระสถูปเจดีย์ ณ จอมดอยที่ปูเข้านี้ บางคนเรียก 
ดอยเชี่ยงเมี่ยง ด้วยเหตุว่าเมื่อกาลสมัย ที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ 
พระองค์ทรงเสด็จมากระทำภัตตกิจ(ฉันภัตตาหาร) เสร็จแล้ว(บ้วนปาก)ภู่ลงไปยังฝั่งแม่น้ำ และมอบพระเกศาธาตุไว้ที่นี่เส้นหนึ่ง 
แล้วพระพุทธองค์ยังทรงทำนายว่าที่นี้ต่อไป จัดได้ชื่อว่าดอยภูเข้า ว่าดังนั้น
ด้วยเหตุนี้พระเจ้าลาวเก้าแก้วจึงได้มาสร้างมหาเจดีย์สวมครอบพระธาตุเจ้า ณ ที่แห่งนี้

เมื่อเสร็จสมบูรณ์แล้วพระองค์ทรงทำบุญให้ทาน ฉลององค์พระธาตุเจดีย์เป็นการใหญ่ ชนทั้งหลายจึงขนานนามสถานที่แห่งนี้ว่า 
พระธาตุดอยภูเข้านั่นแล พระเจ้าลาวเก้าแก้วมาเมืองเสวยราชได้ ๑๒ ปี อายุ ๘๐ พรรษา ในราบปี พ.ศ. ๑๓๑๕ ก็เสด็จสวรรคต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น